วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จะ "พูด" จะ "เว้า" จะ "อู้" จะ "แหลง" ก็เอาเถอะ

ทิ้งข้อสงสัยไว้ให้คิดกันนานแล้ว วันนี้ได้เวลามาตอบซักทีกับข้อสงสัยที่ว่า คำว่า พูด(ภาคกลาง) เว้า(ภาคอีสาน) อู้(ภาคเหนือ) และแหลง(ภาคใต้) เป็น หน่วยศัพท์ (lexeme) เดียวกันหรือไม่

คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าในแต่ละภาคของประเทศไทยนั้นมีการใช้ภาษาที่มีลักษณะเฉพาะตน ที่เราเรียกกันว่า “ภาษาถิ่น” และแน่นอนว่าภาษาของแต่ละถิ่น ไม่ว่าจะเป็นภาษาถิ่นภาคกลาง ภาษาถิ่นภาคเหนือ ภาษาถิ่นภาคอีสาน หรือภาษาถิ่นภาคใต้ ย่อมมีความแตกต่างกันทั้งด้านเสียง และคำศัพท์ ในที่นี้จะกล่าวถึงเรื่องของความแตกต่างทางด้านคำศัพท์เป็นหลัก

ในภาษาไทยถิ่นกลาง พูด หมายถึง . เปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำ แต่ในภาษาไทยถิ่นอีสานจะใช้คำว่า เว้า แทนคำว่า พูด ในขณะที่ภาษาไทยถิ่นใต้ ใช้คำว่า แหลง ส่วนภาษาไทยถิ่นเหนือก็ใช้คำว่า อู้ แทนคำว่า พูด เช่นกัน หากถามว่า แล้วคำทั้งหมดนี้เป็น lexeme เดียวกันหรือไม่ ก็คงต้องอธิบายว่า...........

การศึกษาแนวคิดเรื่อง lexeme นี้เป็นการศึกษาในภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ และจะศึกษาในภาษาที่มีลักษณะของรากศัพท์ ที่มีการเติม inflectional affix (affix ที่เติมแล้ว part of speech ของคำไม่เปลี่ยน) แต่ก็มิได้กล่าวถึงในเรื่องของคำที่ใช้แทนกันในแต่ละถิ่น ดังนั้นหากจะจับหลักเรื่อง lexeme มาอธิบายข้อสงสัยนี้โดยตรงก็คงจะลำบากอยู่ซักหน่อย จึงต้องนำหลักการหรือแนวคิดเรื่องอื่นมาประยุกต์ใช้ซึ่งก็คือ การศึกษาด้านภูมิศาสตร์ภาษาถิ่น (Dialect Geography) ในการศึกษาภาษาถิ่นเชิงภูมิศาสตร์นี้ได้อธิบายถึงเรื่อง หน่วยอรรถ (Semantic unit)ซึ่งน่าจะเชื่อมโยงกับเรื่อง lexeme ได้ ไว้ว่า หน่วยอรรถ หมายถึง หน่วยความหมาย ซึ่งใน 1 หน่วยอรรถอาจแทนด้วย 1 คำศัพท์หรือมากกว่าก็ได้ เรียกว่า หน่วยอรรถที่มีรูปแปร เช่น หน่วยอรรถ มะละกอ ภาษาเหนือเรียกว่า /มะก้วยเต้ด/ ~ /บ่าก้วยเต้ด/ ภาษาอีสานเรียกว่าบักหุ่ง และภาษาใต้เรียกว่าลอกอ ซึ่งกล่าวได้ว่า /มะก้วยเต้ด/ ~ /บ่าก้วยเต้ด/ บักหุ่ง และ ลอกอ เป็นรูปแปรของหน่วยอรรถ มะละกอ หรือ หน่วยอรรถ พูด ภาษาอีสานใช้ เว้า ภาษาเหนือใช้ อู้ ภาษาใต้ใช้ แหลง ดังนั้นกล่าวได้ว่า เว้า อู้ แหลง เป็นรูปแปรของหน่วยอรรถ พูดหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เว้า อู้ แหลง มีความหมายว่า พูดนั่นเอง

ย้อนกลับไปที่ lexeme หรือ word-concept อันเป็นประเด็นที่เราตั้งคำถามไว้ จากที่เคยกล่าวแล้วว่า lexeme หรือ word-concept จะเน้นการพิจารณาความหมายของคำเป็นหลัก ดังนั้นจะพบว่า เว้า อู้ แหลง พูด มีความหมายเดียวกันทั้งหมด คือหมายความว่า พูด จึงสรุปได้ว่า เว้า อู้ แหลง และ พูด เป็น lexeme เดียวกัน แต่มี word-forms (รูปศัพท์) ต่างกันเท่านั้น

มาถึงตอนนี้คงหมดข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง word และ lexeme กันแล้ว ส่วนบทความต่อไปจะมาแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรอีกนั้นก็ต้องติดตามกันต่อนะจ๊ะ ^___^

อ้างอิง

สมทรง บุรุษพัฒน์. ภูมิศาสตร์ภาษาถิ่น Dialect Geography. กรุงเทพมหานคร : เอกพิมพ์ไทจำกัด, 2543.

สุวัฒนา เลี่ยมประวัติ. รายงานการวิจัย เรื่อง แผนที่ภาษาศาสตร์จังหวัดราชบุรี. นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.

ศุภชัย ต๊ะวิชัย. เอกสารหน่วยที่ 5 : ความสัมพันธ์ทางความหมาย. นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น