วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นักภาษาศาสตร์มีแนวทางในการศึกษาอุปลักษณ์อย่างไรบ้าง?

หลังจากที่อธิบายถึงความหมายและการใช้อุปลักษณ์แล้ว ในบทความนี้จะกล่าวถึงแนวทางการศึกษาอุปลักษณ์ตามแนวของภาษาศาสตร์

ในการศึกษาภาษาศาสตร์มีการศึกษาอุปลักษณ์ 2 แนวคิด คือ อุปลักษณ์ตามแนวเดิม (traditional theory) ซึ่งอธิบายอุปลักษณ์จากการตีความรูปภาษา และอุปลักษณ์เชิงภาษาศาสตร์ปริชาน (cognitive linguistic) ซึ่งอธิบายว่าอุปลักษณ์เป็นเรื่องของการใช้ภาษาที่เกี่ยวข้องกับระบบความคิดของผู้ใช้ภาษา (ชัชวดี ศรลัมพ์, 2544)

1. อุปลักษณ์ตามแนวคิดเดิม (traditional theory) อธิบายว่า อุปลักษณ์ (Metaphor) เป็นการนำความหมายของรูปภาษาไปใช้ในเชิงเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดภาพพจน์ และเป็นการขยายความหมายของคำออกไปจากความหมายเดิมซึ่งทำให้เกิดความเปรียบ หมายถึงข้อความที่แสดงการเปรียบเทียบของสองสิ่งที่มีคุณสมบัติเหมือนกันหรือต่างกันในโครงสร้างของความเปรียบ จะปรากฏคำว่า เหมือน เป็น ดัง เช่น ราวกับ อยู่ในโครงสร้างภาษา

อุลมานน์ (Ullmann, 1962: 212) อธิบายว่า อุปลักษณ์ประกอบด้วยองค์ประกอบที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางความหมาย 2 ส่วน คือสิ่งที่ถูกเปรียบ (Tenor) คือแนวคิดที่ต้องการนำเสนอ และแบบเปรียบ (Vehicle) คือสิ่งที่สื่อให้เห็นถึงความคิดที่ต้องการนำเสนอ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ความเปรียบมีประสิทธิภาพในการขยายความหมายคือ ความมากน้อยในความที่คล้ายคลึงของสิ่งที่ถูกเปรียบและแบบเปรียบคือ

(Tenor) กับ (Vehicle) คล้ายคลึงกันน้อย การขยายความหมายมีประสิทธิภาพมาก
(Tenor) กับ (Vehicle) คล้ายคลึงกันมาก การขยายความหมายมีประสิทธิภาพน้อย

2. อุปลักษณ์เชิงภาษาศาสตร์ปริชาน (cognitive linguistic) แนวคิดนี้เกิดขึ้นตามแนวความคิดของ เลคอฟและจอห์นสัน (Lakoff & Johnson, 1980: 3-4) ที่มองว่าอุปลักษณ์เกิดขึ้นในภาษาที่ใช้สื่อสารกันทั่วไปของมนุษย์ และไม่ได้มีรูปแบบโครงสร้างทางภาษาที่เปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่การใช้ภาษาในชีวิตประจำวันล้วนแต่เป็นอุปลักษณ์ทั้งสิ้น ซึ่งการใช้อุปลักษณ์นี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในเรื่องของภาษาเท่านั้นแต่ยังเกี่ยวเนื่องกับความคิดของผู้ใช้ภาษาด้วย เรียกว่า อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ (conceptual metaphor)

อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์เกิดจากโครงสร้างทางความคิด เราเข้าใจอุปลักษณ์ได้เพราะมีการทับซ้อนของขอบเขตของมโนทัศน์ต่างๆ (mapping of conceptual domains) นั่นก็คือการที่มิติทางความคิดต่างๆ (mental spaces) มีการเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ หมายความว่าวัตถุหรือองค์ประกอบในมิติทางความคิดหนึ่งไปสัมพันธ์กับวัตถุ หรือองค์ประกอบในอีกมิติทางความคิดหนึ่ง

บทบาทของอุปลักษณ์ทางปริชานนี้ถูกกำหนดโดยความสามารถที่ระบบทางความคิด ประมวลออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย ระบบการสร้างมโนทัศน์ปกติของเรานั้นจึงเป็นระบบที่ต้องพึ่งพากระบวนการทาง อุปลักษณ์อยู่ตลอด เราสามารถกล่าวได้ว่าอุปลักษณ์คือสิ่งที่ธรรมดาและเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดใน ชีวิตมนุษย์

เลคอฟให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการของอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ไว้ว่า เกิดจากการที่มโนทัศน์ที่เป็นนามธรรม (abstact concepts ) สร้างขึ้นจากมโนทัศน์ที่มีความใกล้เคียงกับประสบการณ์ที่มีพื้นฐานจากทาง ร่างกาย (corporal experience) ของเรา กระบวนการนี้มีความสัมพันธ์กับตัวมโนทัศน์ไม่ใช่ตัวคำในภาษา และยังสัมพันธ์กับระบบการคิดอย่างมีเหตุผล กระบวนการหลักของอุปลักษณ์มโนทัศน์คือการถ่ายทอดระหว่างขอบเขตของมโนทัศน์ ที่ต่างกัน โดยจะมีการเก็บโครงสร้างที่เป็นตัวอนุมานระหว่างแต่ละมโนทัศน์ไว้เสมอ

ด้วยเหตุนี้ อุปลักษณ์จึงทำให้การคิดเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น เลคอฟอธิบายเพิ่มเติมว่ากรอบของประสบการณ์ทางความคิดเชิงนามธรรมที่เกิดขึ้น ใหม่ทั้งหลายนั้นจะถูกรวบรวมโดยผ่านเครือข่ายของอุปลักษณ์ซึ่งทำหน้าที่ สร้างแบบแผนทางความคิด ดังนั้นหน้าที่สำคัญของอุปลักษณ์คือการเชื่อมโยงรูปแบบความคิดที่เป็น นามธรรมเข้ากับรูปแบบความคิดทางกายภาพโดยผ่านตัวกระทำทางปริชาน ส่วนประสบการณ์แต่ละแบบนั้นก็เกิดขึ้นมาจากการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับโลก รอบๆ ตัวเรา ดังนั้นอุปลักษณ์จึงเชื่อมต่อรูปแบบการแสดงความคิดเข้ากับพื้นฐานทางความ รู้สึกและประสบการณ์

อุปลักษณ์จะถ่ายทอดรูปแบบทางความคิดจากแวดวงความหมายต้นทาง (source domain) ไปยัง แวดวงความหมายปลายทาง (target/objective domain) ดังตัวอย่างอุปลักษณ์ที่เลคอฟได้แสดงให้เห็นว่าอารมณ์และจิตใจเป็นสิ่งที่มีตัวตน จับต้องได้

THE MIND IS A MACHINE

My mind just isn’t operating today.
I’m a little rusty today.

(Lakoff & Johnson, 1980:27)

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า operating และ rusty เป็นคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของเครื่องจักร แต่ถูกนำมาใช้กล่าวถึงอารมณ์และจิตใจของมนุษย์ แสดงให้เห็นว่ามีการเชื่อมโยงความคิดระหว่างแวดวงความหมาย โดยถ่ายโยงความคิดจากแวดวงความหมายต้นทาง (Source domain) คือ สิ่งของเครื่องจักร ซึ่งเป็นรูปธรรม ไปสู่แวดวงความหมายปลายทาง (Target domain) คือ อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ซึ่งเป็นนามธรรม การเปรียบเทียบดังกล่าวนี้เป็นการถ่ายโยงความหมายจากแวดวงหนึ่งไปสู่อีกแวดวงหนึ่งที่มีความแตกต่างกันมาก และสะท้อนให้เห็นถึงระบบความคิดของผู้ใช้ภาษาที่มองว่า ความรู้สึกนึกคิดและจิตใจเป็นเครื่องจักร เป็นต้น

หลังจากที่อธิบายถึงแนวคิดที่นักภาษาศาสตร์ใช้ในการศึกษาอุปลักษณ์แล้ว ในบทความต่อไปผู้เขียนจะเสนอการศึกษาอุปลักษณ์ใน “ผญา” เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงมโนทัศน์ของชาวอีสานผ่านถ้อยคำอุปลักษณ์ที่ปรากฏใน “”คำผญา” ดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น