นามนัย หรือ Metonymy เป็นกระบวนการในการขยายของความหมายลักษณะหนึ่ง โดยกระบวนการขยายความหมายแบบนามนัยนี้จะเป็นการนำสิ่งหนึ่งไปแทนอีกสิ่งหนึ่งซึ่งสิ่งที่นำมาแทนนี้จะต้องเป็นสิ่งที่ใกล้กัน กล่าวคือมีความเกี่ยวเนื่องหรือสัมพันธ์กัน รูปแบบของ Metonymy มีหลากหลายรูปแบบ เช่น
1. Container for Contained
คือลักษณะของการใช้สิ่งที่มีลักษณะเป็นภาชนะบรรจุ (Container) แทนสิ่งที่ถูกบรรจุ (Contained)
ตัวอย่างเช่น ห้อง 102 ยังไม่จ่ายค่าน้ำค่าไฟเลยเดือนนี้
จากตัวอย่างจะเห็นว่าเป็นการนำเอาสิ่งที่มีลักษณะเป็นภาชนะ มีขอบเขตในที่นี้คือ ห้อง 102 มาแทนสิ่งที่อยู่ภายใน ซึ่งก็คือ คนที่อยู่ในห้อง ความหมายตรง(literal meaning) ของห้อง 102 คือ ห้องพักหมายเลข 102 ส่วนความหมายที่นำคำว่า ห้อง 102 มาแทนที่ คือ คนที่พักในห้อง 102
2. Represented Entity for Representative
คือการใช้สิ่งหนึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งที่ต้องการกล่าวถึง
ตัวอย่างเช่น ไทยบุกชนะปาเลสไตน์ 2-0
จากตัวอย่าง ไทย และ ปาเลสไตน์ เป็นสิ่งที่ถูกใช้เป็นตัวแทนของ นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย และ นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติปาเลสไตน์ ที่ชนะและแพ้ ตามลำดับ
3. Whole for Part
คือการใช้สิ่งที่เป็นส่วนใหญ่(Whole)แทนสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่ง(Part)ของสิ่งนั้น
ตัวอย่างเช่น ครูขอตัวไปเข้าห้องน้ำก่อนนะ
จากตัวอย่างใช้คำว่า ห้องน้ำ ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ (Whole) แทน ส้วม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง(Part) ของห้องน้ำ Metonymy แบบนี้จะแตกต่างจากแบบ Container for Contained ตรงที่แบบ Container for Contained สิ่งที่ถูกแทนไม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่นำมาแทน
4. Part for Whole
คือการใช้สิ่งที่เป็นส่วนหนึ่ง(Part) แทนสิ่งที่เป็นส่วนใหญ่ (Whole)
ตัวอย่างเช่น ไม่เห็นหน้าเลยนะหมู่นี้
จากตัวอย่าง จะเห็นว่าคำว่าหน้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง (Part) ของร่างกาย ถูกใช้แทนร่างกาย (Whole) ในที่นี้ ไม่เห็นหน้าไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นเพียงหน้าแต่หมายถึงไม่ได้เจอกันเลย ก็ไม่เห็นทั้งตัวนั่นแหละค่ะ
จากตัวอย่างเมื่อกล่าวถึง Metonymy แล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าจะกล่าวถึงควบคู่กันไปด้วย คือ อนุนามนัย (Synecdoche) ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ Metonymy คือการนำสิ่งหนึ่งไปแทนสิ่งหนึ่งจะแตกต่างกันเพียง Synecdoche จะเน้นการใช้สิ่งที่มีความหมายเฉพาะ (Specific) แทนสิ่งที่มีความหมายทั่วไป (Generic)
ตัวอย่างเช่น พี่ : พี่ฝากซื้อมาม่าซองหนึ่งสิ
น้อง : เอาอะไรดีล่ะ
พี่ : เอาไวไวสูตรดั้งเดิมแล้วกันนะ
จากตัวอย่างคำว่า มาม่า เป็นคำที่มีความหมายเฉพาะ (Specific) ซึ่งหมายถึงยี่ห้อของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่งแต่ถูกนำมาใช้ในความหมายทั่วไป (Generic) กล่าวคือใช้แทนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด
จากบทความที่แล้วเราได้กล่าวถึงเรื่องของการขยายความหมายแบบอุปลักษณ์ (Metaphor) ไปแล้วจะเห็นว่า Metonymy จะมีความแตกต่างจาก Metaphor ตรงที่ Metonymy จะไม่มีการถ่ายโยง (transfer) คุณสมบัติของสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่ง กล่าวคือ Metonymy จะเกิดขึ้นภายในวงความหมาย (Domain) เดียวกัน จะไม่มีการถ่ายโยงความสัมพันธ์ข้าม domain เหมือนกับ Metaphor นั่นเอง
อ้างอิง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น