เคยสงสัยหรือไม่ว่า Word และ Lexeme แตกต่างกันอย่างไร เมื่อมีโอกาสคุยกับเพื่อนที่กำลังเรียนด้านภาษาศาสตร์ก็ได้คำตอบว่า “Word คือ คำในความหมายที่คนทั่วไปรู้จัก ส่วน Lexeme คือ คำในความหมายที่นักภาษาศาสตร์รู้จัก” ทันทีที่ได้ยินคำตอบ การพิสูจน์ข้อเท็จจริงก็เริ่มขึ้นโดยการถามเพื่อนที่ไม่ได้เรียนภาษาศาสตร์ว่า “Word” คืออะไร และ “Lexeme” คืออะไร คำตอบที่ได้รับคือ Word คือ คำ แต่ไม่รู้จัก Lexeme ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ Word คือ คำในความหมายที่คนทั่วไปรู้จัก ส่วน Lexeme คือ คำในความหมายที่นักภาษาศาสตร์รู้จัก แต่ถึงอย่างไรก็ตามคำตอบดังกล่าวยังไม่ชัดเจนพอที่จะอธิบายถึงความแตกต่างของคำว่า “Word” และ “Lexeme” ได้ ดังนั้นในบทความนี้จึงจะอธิบายถึงความแตกต่างของทั้งสองคำนี้
ในทางภาษาศาสตร์จะมีการแยกระหว่าง Word และ Lexeme มาเริ่มที่ Word กันก่อน Word สามารถใช้ได้ใน 2 ความหมาย (Lyons, 1977:19) ความหมาย(1) Word คือ คำในความหมายที่เราใช้กันทั่วไป เช่น
Mary ran ten kilometers yesterday, but she is only running five today. จากประโยคนี้ผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษจะสามารถตอบได้ทันทีว่ามีทั้งหมด 12 words
ส่วนในความหมาย(2) Word คือ รูปคำที่ปรากฏ หรืออาจเรียกว่า Word-form เช่น find found love loves loved run ran มี 7 word forms เป็นต้น
รู้จัก Word กันแล้ว คราวนี้มาทำความรู้จัก Lexeme กันบ้างดีกว่า F.R.Palmer (1976 : 39) กล่าวถึง lexemeไว้ว่า lexeme คือ คำศัพท์ที่เป็นคำหลัก(heading) ซึ่งปรากฏอยู่ใน dictionary ตัวอย่างดังต่อไปนี้
นอกจากนี้ยังมีโปรเจค Emotion Reader (โปรแกรมสื่ออารมณ์ข้อความด้วยเสียง) ได้กล่าวถึงคำว่า lexeme ไว้ว่า คำที่มาจากรากศัพท์ที่เหมือนกัน ก็คือหน่วยศัพท์(lexeme)เดียวกัน เช่น คำว่า run และ running เป็นหน่วยศัพท์เดียวกัน ที่มีรากศัพท์ คือ run
อาจกล่าวได้ว่า lexeme หรือเรียกอีกอย่างว่า Word-concept หมายถึง คำที่แสดงความหมาย สรุปง่ายๆคือ word หรือ word-form จะเน้นการพิจารณาที่รูปคำที่ปรากฏ ส่วน lexeme หรือ word-concept จะเน้นการพิจารณาที่ความหมายของคำนั้นๆ
เช่น walk walks walked มีรูปคำที่ปรากฏ (word forms) ต่างกันเป็น 3 รูป แต่มี lexeme เดียวกัน คือ ‘to walk’ (v.)
เพื่อความเข้าใจมากขึ้นในการแยกแยะ “word” กับ “lexeme” จะขอยกตัวอย่างคำในภาษาอังกฤษดังต่อไปนี้
1. love loves loved loving : different word-forms , same lexeme ‘to love’
2. love find drink : different word-forms , different lexemes
จากตัวอย่างข้อ 1 จะเห็นว่า lexeme / word-concept เดียวกัน จะต้องมี part of speech เดียวกันด้วย เช่นคำว่า love (v.) เมื่อเติมหน่วยคำเติม (affixes) แล้วก็ยังคงเป็นคำกริยาเช่นเดิม ดังนั้นเมื่อมาพิจารณาในภาษาไทยจะพบว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีการเติม derivational affix (affix ที่เติมแล้วทำให้ part of speech เปลี่ยนไปจากเดิม) เช่น การ ความ ตัวอย่างในภาษาไทย คำว่า คิด การคิด ความคิด เป็นต้น เมื่อมองในแง่ของ word-form และ word-concept จะเห็นว่าทั้ง 3 คำ คิด ความคิด การคิด เป็นคนละ word-form แต่เป็น word-concept เดียวกัน เพราะสื่อถึงความหมายหลักเดียวกันคือ ‘คิด’
มาถึงตอนท้ายนี้คิดว่าผู้อ่านน่าจะมีความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่าง word กับ lexeme มากขึ้นแล้ว ....เอ แล้วถ้าเป็นคำว่า พูด (กลาง) เว้า (อีสาน) อู้ (เหนือ) แล่ง (ใต้) จะจัดเป็น lexeme เดียวกันหรือเปล่าน้า ...ลองนึกกันดูนะ แล้วในบทความต่อไปจะมาเล่าสู่กันฟังใหม่
หน่วยอรรถกับ lexeme ก็ครือกันนั่นแหละครับ ในการศึกษาภูมิศาสตร์ภาษาถิ่นนั้นเขามองว่าความแตกต่างแต่ละถิ่นนั้นเป็นเรื่องของความต่างภายในภาษาเดียวกัน ฉะนั้นมันก็เท่ากับว่าพูด เว้า อู้ แล่ง นั้นตรงกับหน่วยอรรถเดียวกันคือ "พูด" อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิธีมองด้วยครับ
ตอบลบ