วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อรรถศาสตร์ในภาษาศาสตร์



อรรถศาสตร์คือการศึกษาความหมายที่สื่อสารด้วยภาษา ฉะนั้นอรรถศาสตร์จึงจัดเป็นสาขาหนึ่งของการศึกษาภาษาในวิชาภาษาศาสตร์

ข้อท้าทายของการศึกษาความหมายในภาษานั้นมีหลายประการ เช่น การวิเคราะห์และอธิบายความหมายในภาษานั้นจำเป็นต้องอาศัย "ภาษา" การนิยามความหมายในลักษณะของพจนานุกรมจึงทำให้เกิดลักษณะเป็นวงกลม (circularity) การที่ความหมายมีลักษณะที่ขึ้นต่อบริบทของการสื่อสารระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง และการที่ความรู้เกี่ยวกับความหมายในภาษาต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับความเป็นจริงของโลกด้วย เป็นต้น

ทางออกที่นักอรรถศาสตร์ใช้ก็คือการพยายามสร้าง "อภิภาษา" (Metalanguage) ขึ้นในลักษณะต่างๆ เพื่อจำแนกระหว่างภาษาที่เป็นเป้าหมายของการศึกษา (object language) กับภาษาที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ (metalanguage หรือ analysis language) นอกจากนั้นยังมีความพยายามแยกประเด็นการศึกษาเกี่ยวกับความหมายออกเป็น pragmatics ซึ่งมุ่งศึกษาความหมายที่เป็นเจตนาของผู้พูด โดยความหมายนั้นขึ้นกับบริบทของการสื่อสารระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง กับ semantics ซึ่งมุ่งศึกษาความหมายของภาษษ โดยปราศจากการนำปัจจัยของผู้พูดผู้ฟังและบริบทของการสื่อสารมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาร่วมด้วย ส่วนสถานะของความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ในภาษาและความรู้เกี่ยวกับโลกนั้น ทฤษฎีทางด้านอรรถศาสตร์ต่างๆ จะมีจุดยืนที่ต่างกัน ในทฤษฎีที่เน้นความเป็นเอกเทศของความรู้ในภาษาก็จะมองว่าสามารถแยกความรู้เกี่ยวกับโลกออกมาต่างหากได้ แต่ในทฤษฎีทางอรรถศาสตร์ปริชานไม่ถือว่าสามารถแยกความรู้เกี่ยวกับภาษาออกจากความรู้เกี่ยวกับโลกได้อย่างเด็ดขาด

ในโมเดลทางไวยากรณ์นั้นความรู้เกี่ยวกับความหมายของคำและประโยคขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าความหมายของคำนั้นมีความสัมพันธ์กับความหมายในระดับประโยคอย่างไร

แนวคิดพื้นฐานที่สำคัญของอรรถศาสตร์ได้แก่แนวความคิดในการจำแนกระหว่าง:
- reference & sense
- utterance, sentence & proposition
- literal & non-literal meaning
- semantics &pragmatics

กระบวนการเรียนรู้ในวิชาอรรถศาสตร์



ในชั้นเรียนครั้งที่สอง มีการเริ่มต้นจากการถ่ายทอดประสบการณ์จากการ "อ่าน" ของนักศึกษา ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อระหว่างสิ่งที่เป็นคำถาม หรือสิ่งที่ผู้อ่านยังไม่รู้กับข้อมูลในหนังสือที่เป็นคำตอบ ฉะนั้นกล่าวได้ว่าการอ่านเป็นทั้งกระบวนการตั้งคำถามและค้นหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน การตั้งคำถามจึงเป็นสิ่งสำคัญพอๆ กันกับการ "รับ" ข้อมูลที่ถูกบรรจุไว้ในหนังสือ





นักศึกษาไ้ด้รายงานว่าตนเองได้ประสบการณ์อะไรบ้าง (เกิดอะไรขึ้นบ้าง) ระหว่างการอ่าน มีหัวข้อใดในหนังสือที่นักศึกษา "เข้าใจมากที่สุด" และหัวข้อไหนที่ "เข้าใจน้อยที่สุด" หรือ ไม่เข้าใจเลย พร้อมทั้งอธิบายด้วยว่าเข้าใจหรือไม่เข้าใจอย่างไร โดยอาจารย์จดบันทึกบนกระดานและสรุปว่าเรื่องใดที่เป็นเรื่องที่นักศึกษาเข้าใจร่วมกันมากที่สุด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเข้าใจตรงกัน และเรื่องใดที่นักศึกษาไม่เข้าใจเหมือนๆ กัน ซึ่งพอจะเดาได้ว่าว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก



จากนั้นอาจารย์จึงอธิบายและยกตัวอย่างไปทีละประเด็น พร้อมทั้งการถาม-ตอบและการอภิปรายของทั้งชั้นเรียน โดยเชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่เกี่ยวกับความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายในภาษาของตัวนักศึกษาเอง

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Lexical & Grammatical Semantics

ในชั้นเรียนครั้งแรกของการศึกษาวิชาอรรถศาสตร์ เราได้เห็นภาพรวมของรายวิชาร่วมกันว่าหัวข้อย่อยต่างๆ ที่เป็นประเด็นศึกษาในวิชานี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ การศึกษาความหมายระดับคำ และการศึกษาความหมายเชิงไวยากรณ์ หรืออาจกล่าวได้อีกแบบหนึ่งว่าเป็นการศึกษาความหมายในระดับประโยค ภาพข้างล่างนี้การแสดงให้เห็นว่าหัวข้อย่อยของการศึกษาวิชาอรรถศาสตร์นี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร

จะเห็นได้ว่าในการศึกษาเรื่องที่มีความซับซ้อนนั้น ก่อนอื่นเราควรพยายามจัดระบบสิ่งที่ศึกษาให้เป็นหมวดหมู่ที่เข้าใจง่าย กล่าวคือ ระบุหัวข้อของเนื้อหาให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร จากนั้นพยายามมองให้เห็นและระบุให้ได้ว่าหัวข้อต่างๆ เหล่านั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร


วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ความหมายของการไม่รู้ความหมาย


เราพูดกันเพื่อสื่อความหมาย บางทีถ้าเราสื่อกันสำเร็จ เราก็ว่าเราพูดกันรู้เรื่อง แต่ถ้าไม่สำเร็จเราก็ว่าเราพูดกันไม่รู้เรื่อง หรือหงุดหงิดหน่อยเราก็โทษว่าอีกฝ่ายหนึ่งนั่นแหละพูดไม่รู้เรื่อง (เพราะฝ่ายเราน่ะพูดรู้เรื่องตลอด) ปัญหาก็คือว่าทำไมถึงมีการพูดรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ทั้งๆ ที่ก็พูดภาษาเดียวกันทั้งสองฝ่าย (บางทีพูดใส่กันคนละภาษายังรู้เรื่องกันได้เลย) น่าสงสัยว่าที่บอกว่า "รู้เรื่อง" และ "ไม่รู้เรื่อง" นั้นมันหมายความว่าอย่างไรกันแน่ แล้วไอ้ที่รู้เรื่องกับไม่รู้เรื่องนั้นมันรู้เรื่องและไม่รู้เรื่องกันแบบไหนได้บ้าง

ลองตอบแบบไม่รู้เรื่องดูก็แล้วกัน

ไม่รู้เรื่องแบบแรก คือไม่รู้ความหมายของคำที่คู่สนทนาใช้ เช่น ทางภาคเหนือมีคำเรียกประเภทของป่าด้วยคำที่คนภาคกลางไม่ใช้กันอย่าง "ป่าแพะ" หรือ "ป่าเหล่า" เป็นต้น เราไปนั่งคุยกับเขาแล้วเขาพูดคำพวกนี้ขึ้นมา เช่นถ้ามีคนชวนเราไปเก็บเห็ดในป่าแพะ คนไม่รู้ว่าป่าแพะคืออะไรก็คงงงงวย อาจนึกถึงขี้แพะมากกว่าเห็ด อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเขาบอกว่าป่าแพะกับป่าละเมาะนั้นก็ป่าจำพวกเดียวกัน อย่างนี้คนที่ไม่คุ้นภาษาเหนือก็พอรู้เรื่องบ้าง

ไม่รู้เรื่องแบบที่สอง ความจริงก็คล้ายๆ กับแบบแรกแต่ต่างออกไปในรายละเอียด อาจจะเรียกว่าแบบที่หนึ่งจุดหนึ่งก็ได้ เรื่องของเรื่องก็คือมีบางทีที่เรารู้ความหมายของคำทุกคำที่เขาใช้ แต่เราก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่ดีว่าคนพูดเขาหมายถึงอะไร ครั้งหนึ่งผมนั่งคุยกับเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้คนหนึ่งเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมการปลูกป่าของเขา เขาบอกว่าแนวทางการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกป่าของเขานั้นใช้แนวคิด "ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง" ผมก็รู้ความหมายของทุกคำเลย แต่ไม่รู้เรื่องเลยว่ามันหมายความว่าอย่างไร เพราะไม่้รู้ว่าไอ้สามอย่างและสี่อย่างนั้นแต่ละอย่างมันคืออะไรบ้าง


ไม่รู้เรื่องแบบที่สาม อันนี้แปลกนิดหนึ่ง คือมันรู้ที่เขาพูดแต่ไม่รู้เรื่องว่าที่เขาพูดนั้นเขาจะเอาอะไรหรือเขาอยากจะบอกอะไรกันแน่ ตอนเป็นนักเรียนมัธยมหลายคนก็คงเคยโดนครูทักว่า "ผมยาวแล้วนะ" ถ้าคนฉลาดหน่อยเขาก็รีบไปต้ดผม ถ้าฉลาดน้อยหน่อยหรือแกล้งโง่ไม่รู้ความ ก็อาจจะทำเฉยๆ ไปจนโดนครูเล็มผมทิ้งเสียเองในที่สุด ไอ้แบบนี้แหละ เป็นความรู้เรื่องไม่รู้เรื่องแบบมีเงื่อนไขที่ต้องเข้าใจว่าใครพูดกับใครในกาละเทศะใดด้วย ไม่อย่างนั้นจากรู้เรื่องก็อาจกลายเป็นไม่รู้เรื่องไปได้

สรุปว่าการไม่รู้เรื่องก็คือไม่รู้ความหมาย ซึ่งก็หมายความตามที่เขียนไว้ข้างบนนั้นนั่นเอง