เราพูดกันเพื่อสื่อความหมาย บางทีถ้าเราสื่อกันสำเร็จ เราก็ว่าเราพูดกันรู้เรื่อง แต่ถ้าไม่สำเร็จเราก็ว่าเราพูดกันไม่รู้เรื่อง หรือหงุดหงิดหน่อยเราก็โทษว่าอีกฝ่ายหนึ่งนั่นแหละพูดไม่รู้เรื่อง (เพราะฝ่ายเราน่ะพูดรู้เรื่องตลอด) ปัญหาก็คือว่าทำไมถึงมีการพูดรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ทั้งๆ ที่ก็พูดภาษาเดียวกันทั้งสองฝ่าย (บางทีพูดใส่กันคนละภาษายังรู้เรื่องกันได้เลย) น่าสงสัยว่าที่บอกว่า "รู้เรื่อง" และ "ไม่รู้เรื่อง" นั้นมันหมายความว่าอย่างไรกันแน่ แล้วไอ้ที่รู้เรื่องกับไม่รู้เรื่องนั้นมันรู้เรื่องและไม่รู้เรื่องกันแบบไหนได้บ้าง
ลองตอบแบบไม่รู้เรื่องดูก็แล้วกัน
ไม่รู้เรื่องแบบแรก คือไม่รู้ความหมายของคำที่คู่สนทนาใช้ เช่น ทางภาคเหนือมีคำเรียกประเภทของป่าด้วยคำที่คนภาคกลางไม่ใช้กันอย่าง "ป่าแพะ" หรือ "ป่าเหล่า" เป็นต้น เราไปนั่งคุยกับเขาแล้วเขาพูดคำพวกนี้ขึ้นมา เช่นถ้ามีคนชวนเราไปเก็บเห็ดในป่าแพะ คนไม่รู้ว่าป่าแพะคืออะไรก็คงงงงวย อาจนึกถึงขี้แพะมากกว่าเห็ด อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเขาบอกว่าป่าแพะกับป่าละเมาะนั้นก็ป่าจำพวกเดียวกัน อย่างนี้คนที่ไม่คุ้นภาษาเหนือก็พอรู้เรื่องบ้าง
ไม่รู้เรื่องแบบที่สอง ความจริงก็คล้ายๆ กับแบบแรกแต่ต่างออกไปในรายละเอียด อาจจะเรียกว่าแบบที่หนึ่งจุดหนึ่งก็ได้ เรื่องของเรื่องก็คือมีบางทีที่เรารู้ความหมายของคำทุกคำที่เขาใช้ แต่เราก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่ดีว่าคนพูดเขาหมายถึงอะไร ครั้งหนึ่งผมนั่งคุยกับเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้คนหนึ่งเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมการปลูกป่าของเขา เขาบอกว่าแนวทางการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกป่าของเขานั้นใช้แนวคิด "ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง" ผมก็รู้ความหมายของทุกคำเลย แต่ไม่รู้เรื่องเลยว่ามันหมายความว่าอย่างไร เพราะไม่้รู้ว่าไอ้สามอย่างและสี่อย่างนั้นแต่ละอย่างมันคืออะไรบ้าง
ไม่รู้เรื่องแบบที่สาม อันนี้แปลกนิดหนึ่ง คือมันรู้ที่เขาพูดแต่ไม่รู้เรื่องว่าที่เขาพูดนั้นเขาจะเอาอะไรหรือเขาอยากจะบอกอะไรกันแน่ ตอนเป็นนักเรียนมัธยมหลายคนก็คงเคยโดนครูทักว่า "ผมยาวแล้วนะ" ถ้าคนฉลาดหน่อยเขาก็รีบไปต้ดผม ถ้าฉลาดน้อยหน่อยหรือแกล้งโง่ไม่รู้ความ ก็อาจจะทำเฉยๆ ไปจนโดนครูเล็มผมทิ้งเสียเองในที่สุด ไอ้แบบนี้แหละ เป็นความรู้เรื่องไม่รู้เรื่องแบบมีเงื่อนไขที่ต้องเข้าใจว่าใครพูดกับใครในกาละเทศะใดด้วย ไม่อย่างนั้นจากรู้เรื่องก็อาจกลายเป็นไม่รู้เรื่องไปได้
สรุปว่าการไม่รู้เรื่องก็คือไม่รู้ความหมาย ซึ่งก็หมายความตามที่เขียนไว้ข้างบนนั้นนั่นเอง
น่าสนใจมากๆ ค่ะ
ตอบลบ