วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อุปลักษณ์ คือ อะไร ?


หลายคนคงจำได้ว่า เราเคยเรียนเรื่องอุปลักษณ์ มาแล้วในวิชาภาษาไทย สมัยมัธยม แต่เป็นอุปลักษณ์ที่เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของโวหารภาพพจน์ คุณครูจะอธิบายให้ฟังเสมอว่า อุปลักษณ์คล้ายกับอุปมาคือเป็นการเปรียบเทียบ โดยอุปลักษณ์จะเปรียบ “เป็น” หรือ “คือ” เช่น “ทหารเป็นรั้วของชาติ” จึงทำให้หลายคนเข้าใจว่า อุปลักษณ์มีใช้ในวรรณคดีหรือวรรณกรรมเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วเราก็มีการใช้อุปลักษณ์กันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เช่น

“เธอนอกใจฉัน ตอนนี้หัวใจมันร้าวแทบจะแตกเป็นเสี่ยงๆ

“มีโอกาสได้เรียนแล้วก็ต้องตักตวงความรู้ให้ได้มากที่สุด”

ตัวอย่างแรก เป็นประโยคที่เราพูดและได้ยินกันเป็นปกติในชีวิตประจำวันจนหลายคนอาจจะไม่เคยคิดเลยว่าประโยคที่เราใช้เป็นประจำนี้มีการใช้อุปลักษณ์ ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะพบว่า มีการนำคำว่า “นอก” ซึ่งใช้ในแวดวงอาคารสถานที่ และ “ร้าว”, ”แตกเป็นเสี่ยงๆ” ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในแวดวงภาชนะที่เป็นของแข็ง เช่น แก้ว มาใช้เปรียบกับ “หัวใจ” ซึ่งเป็นอวัยวะอย่างหนึ่งในร่างกาย ที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นสถานที่ หรือภาชนะแข็ง

ส่วนตัวอย่างที่สอง ก็เป็นประโยคที่เด็กนักเรียน นักศึกษาได้ยินได้ฟังกันเสมอเมื่อมีผู้ใหญ่สั่งสอน หรือในพิธีปฐมนิเทศ เป็นประโยคที่เราพอรู้ว่ามีการใช้คำอุปลักษณ์ “ตัก” “ตวง” ซึ่งเป็นกริยาที่หมายถึง การเอาภาชนะช้อนหรือรองสิ่งของ มาใช้กับคน ให้หมายถึง ช้อนหรือรองรับเอา “ความรู้” ซึ่งเป็นนามธรรมที่ไม่สามารถ ชั่ง วัด ตัก ตวง ได้

**จากข้อมูลดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า อุปลักษณ์ คือ คำหรือข้อความที่ใช้เปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มีทั้งหมด 3 ระดับ คือ

1. อุปลักษณ์ที่ใช้กันจนไม่รู้ว่าเป็นอุปลักษณ์

2. อุปลักษณ์ที่พอจะรู้ว่าเป็นอุปลักษณ์

3. อุปลักษณ์ที่ใช้ในวรรณกรรมและวรรณคดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น