ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า สำหรับท่านที่ทำใจรับคำหยาบที่เกี่ยวกับเรื่องในมุ้งไม่ได้ อาจจะข้ามบทความนี้ไปได้เลย เพราะวัตถุดิบในการวิเคราะห์วันนี้ค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่คนนอกวัฒนธรรมรับได้ยาก นั่นก็คือ “สอย”
“สอย” ในที่นี้ไม่ใช่คำกริยาที่หมายถึง เอาไม้มีขอหรือมีง่ามหรือไม้จำปาเกี่ยว ดึงดัน หรือบิดเอาดอกไม้ลูกไม้เป็นต้นลงมา; แทงด้วยเข็มหรือสิ่งที่แหลมอย่างเข็มเย็บผ้าให้เป็นตะเข็บ (ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๔๓) แต่เป็น “สอย” ที่เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ ที่แฝงไปด้วยอารมณ์ขันของคนอีสาน คำสอยส่วนมากจะเน้นหนักในเรื่องทางเพศ แต่ชาวบ้านเขาไม่ถือสากัน กลับเห็นเป็นเรื่องขำขันและสนุกสนานมากกว่า คล้ายคลึงกับกลอนเพอะนั่นเอง
สอยมีหลายประเภทซึ่งในที่นี้จะขอแบ่งเป็นสอยสมัยเก่ากับสอยสมัยใหม่ ดังนี้
1. สอยสมัยเก่า
คำสอยสมัยเก่าใจความสำคัญจะอยู่ที่ประโยคหลัง โดยที่วรรคแรกจะเป็นเพียงการกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการสื่อ แต่นำมาใส่เพื่อเป็นแบบลักษณ์พิเศษของ การสอย และหาคำลงท้ายให้สัมผัสกับข้อความต่อไปที่เป็นใจความหลัก เช่น
สอย... สอย... ส้มผักเสี้ยนสังเวียนสังแวะ ใต้ท้องน้อยเป็นฮอยขวานแซะ
(เป็นการเสียดสีผู้หญิงที่นั่งไม่ระวังตัว)
สอย... สอย... นกแตดแต้บินข้ามปลายตาล ไผได้ผัวทหารผู้นั้นฮักซาติ
(ล้อเลียนหญิงสาวที่มีคู่รักถูกเกณฑ์เป็นทหาร)
สอย... สอย... หัวสิงไคเป็นกอพะยะ ผู้สาวมักพระ ตกนรกอเวจี
(เป็นการเตือนสติให้สาวเกรงกลัวต่อบาป)
2. สอยสมัยใหม่
คำสอยสมัยใหม่ยังคงไว้ซึ่งเรื่องทางเพศ แต่เนื้อความของสอยจะมีความเกี่ยวข้องกันในระหว่างวรรคแรกและวรรคที่สอง ซึ่งไม่ใช้ประโยคที่เป็นแบบลักษณ์ของคำสอยสมัยเก่า แต่จะมีการคิดประโยคใหม่ที่เกี่ยวข้องกับคนที่ต้องการยั่วล้อ และมีลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผล เช่น
สอย... สอย... สาวส่ำน้อยบ่ฮู้จักสรพงษ์ บัดเขาฮูดซิบลง นี่หรือดำอำมหิต
(สอย... สอย.. สาววัยรุ่นไม่รู้จักสรพงษ์ พอเขารูดซิบลง นี่หรือดำอำมหิต)
สอย... สอย... สาวเอกภาษาไทยบ่ฮู้จักกาพย์กลอน บัดเขาจับไปตอน นี่หรือสัมผัสนอกสัมผัสใน
(สอย... สอย... สาวเอกภาษาไทยไม่รู้จักกาพย์กลอน พอเขาจับไปตอน นี่หรือสัมผัสนอกสัมผัสใน)
สอย... สอย... สาวเอกภูมิศาสตร์บ่ฮู้จักแผนที่ บัดถืกโคยเข้าหี นี่หรือคืออ่าวไทย
(สอย... สอย... สาวเอกภูมิศาสตร์ไม่รู้จักแผนที่ พอถูกควยเข้าหี นี่หรือคืออ่าวไทย)
ดังนั้นเราจะเห็นว่า ความสัมพันธ์ทางความหมายในแนวนอนของคำสอยมี 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่ประโยคไม่มีความหายสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันเลยมีลักษณะที่ไปด้วยกันไม่ได้(Abnormal co-occurrence)คือในกลุ่มของคำสอยแบบเก่า กับลักษณะที่ประโยคมีความหมายไปด้วยกันได้(Normal co-occurrence) โดยเป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่กลุ่มของคำสอยแบบใหม่
อ้างอิง
คำสอยจาก http://www.isangate.com/entertain/soi_01.html
รูปภาพจาก www.oknation.net/blog
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น