Semantic Change คือ การเปลี่ยนแปลงทางความหมายซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางความหมายมีทั้งแบบที่แคบเข้า หรือ มีความหมายจำกัดชัดเจนมากขึ้น หรือ ความหมายขยาย คือ มีการนำไปใช้ในแวดวงอื่นทำให้ความหมายเพิ่มขึ้นจากเดิม
การเปลี่ยนแปลงทางความหมายมีปัจจัยทางด้านเวลาเป็นส่วนประกอบหลัก เพราะการที่จะทราบได้ว่าความหมายเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ และไม่ได้ต่างไปจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ซักเท่าไร เมื่อกล่าวถึงเวลาที่ปรากฏอยู่ใน Semantic Change เราจะนึกถึงเวลา 2 แบบ คือ Diachronic และ Synchronic โดยในบทความนี้จะกล่าวถึง Diachronic ซึ่งเป็นการข้ามผ่านช่วงเวลาที่มีระยะยาวนาน หรือกล่าวได้ว่าเป็นการศึกษาเชิงประวัติ
หลายคนคงเคยได้ยินผู้สูงวัยที่มีอายุราวๆ 70 ปีขึ้นไป เรียกชื่อสีสับสนโดยเฉพาะสีเขียวกับสีฟ้า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าท่านตาบอดสี แต่ท่านผู้สูงวัยทั้งหลายนั้นเคยเรียกแบบนี้มาก่อน
จากการศึกษาเชิงประวัติ ทำให้เราทราบได้ว่า เมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้านี้คนไทยของเราเรียกชื่อสีที่มีโทนสีคล้ายสีน้ำเงินว่าสีเขียว สุภมาส เอ่งฉ้วน ได้ทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องของสีเขียวโดยการเก็บข้อมูลจากวรรณกรรมสมัยสุโขทัย และในสมัยอยุธยา และพบตัวอย่างประโยคที่มีลักษณะของสีเขียวมาปรากฏ เช่น ในสมัยสุโขทัย สีเขียวที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมนั้นมีลักษณะที่ค่อนข้างกว้าง ได้แก่ เขียวดังดอกอินทนิล เขียวดังดอกผักตบ ซึ่งดอกอินทนิล และ ดอกผักตบต่างก็มีสีโทนน้ำเงิน แต่ในปัจจุบันนี้ความหมายของสีเขียว(สีที่มีลักษณะเขียว) ได้ถูกจำกัดความลงไปโดยที่สีเขียวจะหมายถึง สีที่มีลักษณะของสีคล้ายใบไม้สด ส่วนสีที่มีโทนน้ำเงินก็ถูกแยกออกไปและจำกัดความของสีนั้นๆ ว่าเป็นสีน้ำเงิน
อย่างไรก็ดีสีเขียวก็มีความหมายที่ขยายออกไปอีก โดยจะขอยกตัวอย่างจากที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน และจากวรรณกรรมบางส่วน เช่น
เสียงเขียว หมายถึง ลักษณะของเสียงที่แสดงถึงอารมณ์ ว่า ณ ขณะพูดอารมณ์ ไม่ดี
หน้าเขียว หมายถึง อาการเจ็บ เช่น เจ็บจนหน้าเขียว
หมายถึง อารมณ์โกรธ เช่น โกรธจนหน้าเขียว
ดำจนเขียว หมายถึง ดำมากๆ โดยคำว่าเขียวเป็นตัวที่บ่งชี้ประมาณของความดำ
ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางความหมายจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบจากการศึกษาวรรณกรรมในสมัยสุโขทัย แต่...การเปลี่ยนแปลงทางความหมายที่เป็นไปในรูปแบบเวลาที่เรียกว่า Synchronic จะเป็นอย่างได โปรดติดตามตอบจบของ การเปลี่ยนแปลงทางความหมาย ในตอนต่อไป...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น