“ออก” เป็นคำที่สามารถปรากฏได้หลายตำแหน่งในประโยคและมีความหลากหลายความหมาย
การศึกษาเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ออก” นั้น ที่ผ่านมาพบว่ามีเพียงงานของ กาจบัณฑิต วงศ์ศรี (2547) ที่ศึกษา เครือข่ายความหมายของคำว่า “ออก” ในภาษาไทย : การศึกษาแนวอรรถศาสตร์ปริชาน เพื่อจำแนกความหมายของคำว่า “ออก” วิเคราะห์มโนทัศน์ของ ความหมายและอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความหมายและใช้แนวคิดอุปลักษณ์และนามนัยในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความหมาย
ผลการศึกษาพบว่า คำว่า “ออก” มีความหมายหลากหลายถึง 10 ความหมายได้แก่ การเคลื่อนที่จากภายในสู่ภายนอกซึ่งเป็นความหมายพื้น ฐาน เช่น น้องออกจากห้องครัว ส่วนความหมายที่เหลือได้แก่ การเริ่มต้นการกระทำ การเลิกสมาคม การพ้นสภาพ การทำให้เกิดชีวิตใหม่ การสร้างให้เกิดขึ้น การจ่าย ความสำเร็จ การประมาณค่อนข้าง และความชัดเจน นั้นเป็นลักษณะของการขยายความหมายจากความหมายพื้นฐานเชิงอุปลักษณ์และนามนัย เช่น ผู้ชายต้องออกไปรบ ใครไม่ทำต้องออกจากกลุ่ม เราจะออกจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร พืชผักออกผลให้เรากินตามฤดูกาล มานะออกเงินค่ารถให้มานี ข้าพอจะดูเอ็งออกว่าเอ็งคงไม่ทำอย่างนั้น แกออกจะเพี้ยนอยู่นะ เสื้อตัวนั้นสวยดีออก ตามลำดับ
การศึกษานี้ชวนให้คิดว่า คำที่มีหลายความหมายอาจมาจากความหมายพื้นฐานเพียงความหมายเดียวแล้วมีการขยายความหมายโดยการอุปลักษณ์และนามนัยตามมโนทัศน์ของผู้ใช้
อ้างอิงค์
กาจบัณฑิต วงศ์ศรี. (2547). เครือข่ายความหมายของคำว่า “ออก” ในภาษาไทย : การศึกษาแนวอรรถศาสตร์ปริชาน. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น