วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

“ได้” ในฐานะ คำหลายความหมาย


จากที่เคยเขียนถึงคำว่า “ออก” ในฐานะคำหลายความหมาย ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงคำว่า “ได้” เหตุที่เลือกคำนี้เพราะเป็นคำที่เราใช้ในชีวิตประจำวันกันจนเป็นเรื่องเคยชิน จนในบางครั้งก็กลายเป็นคำพูดที่พูดไปโดยไม่ได้คิด

ด้วยเหตุผลเดียวกัน ประภัสสร ภัทรนาวิก. (2541) จึงได้ศึกษา “ความสัมพันธ์ทางอรรถศาสตร์และวากยสัมพันธ์ของคำว่า “ได้” ในภาษาไทย” ผลการศึกษาพบว่า คำว่า “ได้” มีความหมายที่หลากหลายถึง 4 ความหมาย ได้แก่ อนุญาต ได้รับ เน้นน้ำหนักหรือเพิ่มน้ำหนักให้แก่คำกริยาที่ตามมา และสามารถ

1. คำว่า “ได้” ในความหมายว่า “อนุญาต” อาจปรากฏในประโยคคำถาม แสดงเจตนาว่าขออนุญาต โดยมีวากยสัมพันธ์ในประโยคคือ อยู่หลังคำกริยาหลักของประโยค ปรากฏในประโยคคำถามนั้นโดยมีลักษณะทางวากยสัมพันธ์ในประโยคคือเป็นกริยาหลักของประโยค เช่น

ประโยคคำถาม ขณะนี้ขอใช้ห้องประชุมที่ 117 เพื่อสอนชดเชยได้ไหม?

ประโยคคำตอบรับ ได้

ประโยคคำตอบที่ตอบปฏิเสธ ไม่ได้

2. คำว่า “ได้” ที่มีความหมายว่า “ได้รับ” อาจปรากฏในประโยคบอกเล่า โดยมีลักษณะทางวากยสัมพันธ์ในประโยคคือ อยู่ในตำแหน่งคำกริยาหลักของประโยค เช่น ในการวิจัยแบบนี้เป็นรูปแบบของการวิจัยที่นิยมกันมาก ซึ่งผลที่ได้จากการวิจัยสามารถนำไปใช้และเกิดผลโดยตรงในการผลิต

3. คำว่า “ได้” ที่มีความหมายเน้นน้ำหนัก หรือเพิ่มน้ำหนักให้แก่คำกริยาที่ตามหลังมา อาจปรากฏในคำบอกเล่า โดยมีลักษณะทางวากยสัมพันธ์ในประโยคคือ อยู่ในตำแหน่งหน้าคำกริยาหลักของประโยค เช่น ท่านได้พยายามปลูกฝังกระบวนทัศน์ หรือแนวคิดให้แก่บรรดาสานุศิษย์

4. คำว่า “ได้” ที่มีความหมายว่า “สามารถ” อาจปรากฏในประโยคบอกเล่า โดยมีลักษณะทางวากยสัมพันธ์คือ อยู่ตำแหน่งหลังคำกริยาหลักของประโยค เช่น ความเห็นนี้นั้นเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ในทางปฏิบัติ

จากการศึกษาดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งที่ปรากฏและบริบทแวดล้อมทำให้คำเดียวกันมีความหมายที่แตกต่างหลากหลายยิ่งขึ้น

อ้างอิง

ภัทรนาวิก, . (2541). ความสัมพันธ์ทางอรรถศาสตร์และวากยสัมพันธ์ของคำว่า "ได้" ในภาษาไทย. วารสารปาริชาต. 11, 2 : 8.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น