วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทัศนะภาวะปริชาน (epistemic modality) และทัศนะภาวะปริพัทธ (deontic modality) ในคำช่วยหน้ากริยา “ต้อง” “น่าจะ” “ควรจะ”

สวิทเซอร์ (Sweetser 1990) ได้เสนอไว้ในการศึกษาด้านอรรถศาสตร์ปริชาน (cognitive semantics) ว่าขอบเขตของทัศนะภาวะสัญชานและขอบเขตของทัศนภาวะปริพัทธเป็นขอบเขตที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ความสัมพันธ์นี้เป็นความสัมพันธ์เชิงอุปลักษณ์ (metaphorical) กล่าวคือ เราไม่ได้สร้างระบบมโนทัศน์เกี่ยวกับการคาดคะเนโดยตัวของมันเอง แต่เราได้มาจากการขยายขอบข่ายความเข้าใจเกี่ยวกับการอยู่ภายใต้เงื่อนไขบังคับทางกายภาพและสังคม (Sociophysical World) ซึ่งเป็นขอบข่ายของทัศนะภาวะปริพัทธ นั่นก็คือในทางอรรถศาสตร์แล้ว หมายความว่ามีการเชื่อมโยงเชิงอุปลักษณ์ (metaphorical mapping) จากระบบความหมายเกี่ยวกับเงื่อนไขทางกายภาพและสังคม (ซึ่งก็คือทัศนะภาวะปริพัทธ หรือ deontic modality) ไปสู่ระบบความหมายเกี่ยวกับการใช้หลักเหตุผลในการคาดคะเน (ซึ่งก็คือ ทัศนะภาวะปริชาน หรือ epistemic modality)

ในภาษาไทยพบว่า คำแสดงทัศนะภาวะปริพัทธหลายคำสามารถใช้เพื่อแสดงความหมายการคาดคะเนได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่างนี้แสดงการเปรียบเทียบการใช้คำช่วยหน้ากริยา “ต้อง” ที่ขยายความประโยคแตกต่างกัน

1. มีระเบียบออกมาใหม่ว่านักศึกษาทุกคนต้องสวมร้องเท้าหุ้มส้น

2. ยาหลายๆ ตัวออกฤทธิ์ได้แตกต่างกัน แน่นอนว่าต้องมียาบางชนิดที่ไม่ถูกกับอาหารบางประเภท

ตัวอย่างประโยคที่1. แสดงการใช้คำช่วยหน้ากริยา “ต้อง” เพื่อแสดงทัศนะภาวะบังคับ นั่นคือ มีระเบียบที่เป็นสิ่งบังคับให้นักศึกษาทุกคนดำเนินตาม ในที่นี้คือสวมรองเท้าหุ้มส้น ในขณะที่ประโยคที่2. ตามหลักเหตุผลที่ยกมาในปริบทแวดล้อมบังคับให้เราเชื่อได้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมียาบางชนิดไม่ถูกกับอาหารบางประเภท

คำช่วยกริยา “น่าจะ” ก็เช่นเดียวกัน โดยปกติแล้วมีหน้าที่แสดงทัศนะภาวะปริพัทธ แต่ก็สามารถใช้แสดงทัศนะภาวะสัญชานได้ในบางกรณี ดังตัวอย่าง

3. หากคุณเกิดความไม่สบายกะทันหันก่อนวันเดินทาง ทางที่ดีน่าจะเลื่อนวันเดินทางไปก่อนจนกว่าอาการจะดีขึ้น

4. รายได้ในปีนี้คาดว่าจะดีขึ้น เพราะเราเริ่มโฆษณาทางโทรทัศน์แล้ว ดิฉันคิดว่าน่าจะทำให้คนรู้จักผลิตภัณฑ์ของเรามากขึ้น

ตัวอย่างประโยคที่3. แสดงความเห็นของผู้พูดที่ชี้แนะผู้ฟังให้กระทำตามคือเลื่อนวันเดินทาง ในตัวอย่างที่4. นั้น ผู้พูดไม่ได้ชี้แนะผู้ฟังให้กระทำแต่อย่างใด แต่ผู้พูดแสดงการคาดคะเนว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การดำเนินการโฆษณามีผลทำให้คนรู้จักผลิตภัณฑ์ของตนมากขึ้น

ตัวอย่างต่อไปนี้แสดงการเปรียบเทียบการใช้คำช่วยหน้ากริยา “ควร” ตามด้วย “จะ” เพื่อแสดงทัศนะภาวะปริพัทธและทัศนะภาวะสัญชานตามลำดับ

5. การเดินเพื่อสุขภาพให้ได้ผลดีต้องเดินเร็วๆ วันละประมาณ 30-40 นาที

6. ค้นดูตามซอกตามมุมที่คิดว่าควรจะมีอยู่ แต่ก็ไม่พบสักสลึง

ในประโยคที่ 5. ผู้พูดเสนอแนะให้ผู้ฟังกระทำตาม นั่นคือให้เดินเร็วๆ ในระยะทางและเวลาที่ผู้พูดแนะนำ ส่วนในประโยคที่6. ผู้พูดบอกเล่าการคาดคะเนความเป็นไปได้ที่จะมีเงินอยู่บริเวณซอกมุม ไม่ใช้เป็นการเสนอแนะให้ผู้อ่านผู้ฟังกระทำตามแต่อย่างใด

อ้างอิง : Sweetser, Eve. 1990. From Etymology to Pragmatics: The Mind-as-Body Metaphor in semantic Structure and Semantic Change. Cambridge: Cambridge University Press.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น