วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อุปลักษณ์ในผญา


หลังจากที่ห่างหายไปนาน คราวนี้เรามาต่อกันที่เรื่องของอุปลักษณ์ในผญาอีสาน โดยวันนี้ผู้เขียนได้หยิบยกผญาจากงานของ สมปอง จันทคง (2530) ได้ทำการศึกษา วันธรรมภาษาอีสานจากผญา: กรณีศึกษาบ้านหนองเรือ ตำบลสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์

ก่อนอื่นต้องมารู้จักผญาอีสานกันก่อน

ผญา หมายถึงถ้อยคำหรือข้อความที่ฉลาดหลักแหลมคมคาย เป็นคติเตือนใจ ภาษิต คำพังเพย คำอวยพร และโวหารที่หนุ่มสาวใช้ในการเกี้ยวพาราสีกัน ผญาเป็นคำภาษาอีสานตรงกับภาษาไทยกลางว่า ปัญญา อันแสดงถึงความรอบรู้ของผู้พูด แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้พูด ดังผญาบทหนึ่งกล่าวว่า “มีเงินเต็มภาช์ บ่ท่มีผญาเต็มปูม” ซึ่งหมายความว่า มีเงินมากมายก็ไม่เท่ามีปัญญารอบรู้ (สมปอง จันทคง, 2530)

มีผู้รู้แบ่งประเภทของผญาไว้หลายประเภท เช่น ผญาภาษิต ตงโตย ผญาย่อยหรือคำคม ผญาเกี้ยว ผญาอวยพรเป็นต้น ในบทความนี้ผู้เขียนเลือกวิเคราะห์อุปลักษณ์ในผญาเกี้ยวหน้า 90-91 ซึ่งเป็นผญาที่หนุ่มสาวใช้เกี้ยวพาราสีกัน ดังนี้

ญ. อย่ามาตี๋แถลงเว่า แปลงหลายความปาก บ่แม่นเชื้อชาติอ้อย แปลงได้กะบ่หวาน

ผญาบทนี้เป็นบทที่ฝ่ายหญิงเหน็บแนมฝ่ายชายที่พูดด้วยว่า ถึงแม้จะปรุงแต่งคำพูดเท่าไรก็ไม่หวาน โดยมีแบบเปรียบหรือความหมายต้นทาง (source domain) คือ อ้อย และมีสิ่งที่ถูกเปรียบหรือความหมายปลายทางคือ คำพูด

ช. เจ้าผู้หงส์คำผ้าย เวหาเหินเมฆ งามเด้ กาดำว่าอยากมาอยู่ซ้อนทางพี้สิจั่งได๋น้อ

ผญาบทนี้เป็นคำกล่าวของฝ่ายชายที่ต้องการจะถามฝ่ายหญิงว่าจะมาขออยู่ด้วย(เป็นสามี) ได้หรือไม่ โดยเปรียบฝ่ายหญิง(target domain) เป็นหงส์ทองผู้งดงาม(source domain) และเปรียบตนเอง(target domain) เป็นกาดำ(source domain)

ญ. สัจจาวาจา ผู้ชายนี้ คือกวยกะต่าห่าง ถิ้มใส่น้ำ ไหลเข้าสู่ตา

ผญาบทนี้ฝ่ายหญิงได้เปรียบคำพูดของผู้ชาย(target domain) ว่าเป็นเหมือน ตะกร้าตาห่าง(source domain) ที่เมื่อทิ้งลงน้ำ น้ำก็สามารถไหลเข้าได้ทุกตา(ช่อง) กล่าวคือ คำพูดของผู้ชายเชื่อถือไม่ได้

ช. เจ้าผู้บัวบาน ในสะพังสระใหญ่ สมเจ้างาม บ่แพ้แล้ว ทางก้านเสี้ยนต่อหนาม

ผญาบทสุดท้ายนี้ฝ่ายชายได้เปรียบฝ่ายหญิง(target domain) ว่าเป็น บัวบาน(source domain) ในสระใหญ่ ที่มีความงดงาม แต่ตรงก้านกลับมีหนาม ซึ่งเสี้ยนหนามก็เป็นแบบเปรียบหรือความหมายต้นทาง(source domain) ของสติปัญญา(target domain)ของผู้หญิงที่มีไว้ป้องกันอันตราย

จากตัวอย่างผญาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแบบเปรียบส่วนใหญ่ที่คนอีสานนำมาใช้เปรียบจะเป็นสิ่งที่พบเห็นทั่วไปในธรรมชาติและสิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวันของตน เช่น อ้อย อีกา ดอกบัว ตะกร้า ส่วน หงส์นั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในคติของชาวอีสานซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่สูงส่งงดงาม ตรงกันข้ามกับอีกาที่มีสีดำต่ำต้อย

คำเปรียบที่พบคือ เปรียบผู้หญิงเป็น หงส์ และดอกบัว เปรียบผู้ชาย(ที่จะเข้าไปจีบ)เป็นกาดำ เปรียบคำพูดเป็น อ้อย (+) และตะกร้าห่าง (-)

เอกสารประกอบการศึกษา

สมปอง จันทคง. 2530. “วัฒนธรรมภาษาอีสานจากผญา: ศึกษากรณีบ้านหนองเรือ ตำบลสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

รูปภาพจาก: http://www.google.co.th/imgres?q=%E0%B8%9C%E0%B8%8D%E0%B8%B2&um=1&hl=th&sa=N&biw=1280&bih=513&tbm=isch&tbnid=-cC9f2U16wrLgM:&imgrefurl=http://www.oknation.net/blog/print.php%3Fid%3D79918&docid=ApuarOdze2oFLM&imgurl=http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx%253FID%253D315351&w=400&h=373&ei=DwaYTs6WN5GurAeK6rCEBA&zoom=1&iact=hc&vpx=856&vpy=126&dur=1438&hovh=156&hovw=167&tx=100&ty=78&sig=108999041989717693267&page=5&tbnh=140&tbnw=160&start=47&ndsp=12&ved=1t:429,r:10,s:47

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น