วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ทุติยบท ของความสัมพันธ์ทางความหมายในแนวนอน : ความแตกต่างระหว่าง Paradox กับ Oxymoron

จากบทความที่ผ่านมาได้เกริ่นนำเกี่ยวกับเรื่องของ Semantic clash ไว้ว่ามีอยู่ 3 ระดับ Paradox เป็นหนึ่งในสามระดับนั้น ดังที่กล่าวไว้ในบทความที่ผ่านมาว่า Paradox ในภาษาไทยเรียกว่า ปฏิพจน์ ซึ่งหมายถึงการนำคำที่มีความหมายตรงข้ามกันมาเรียงอยู่ด้วยกัน แต่สิ่งที่จะเพิ่มเติมในบทความนี้ก็คือ อันที่จริงแล้วการขัดกันของความหมายในระดับคำ หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ การนำเอาคำที่ขัดแย้งกันมาเรียงต่อกันนั้นไม่ใช่ลักษณะของ Paradox แต่เป็นลักษณะของ Oxymoron แล้วอย่างนี้ Paradox จะแตกต่างจาก Oxymoron อย่างไหรหนอ

หลายคนอาจแยกแยะความแตกต่างระหว่าง Paradox และ Oxymoron ได้อย่างยากเย็น เพราะดูไปดูมามันก็คล้ายๆกันละน่า มันก็เป็นการนำเอาคำที่มีความหมายขัดแย้งกันมาอยู่ด้วยกัน แต่อันที่จริงเราก็มีวิธีพิจารณาความแตกต่างของทั้งสองสิ่งนี้ซึ่งก็คือ Paradox จะเป็นการนำสองสิ่งที่ความหมายไม่ไปด้วยกันมาไว้ด้วยกัน ซึ่ง Paradox จะเป็นการพิจารณาในระดับประโยค หรือย่อหน้า ส่วน Oxymoron จะเป็นการนำเอาคำเพียง 2 คำที่ขัดแย้งกันหรือมีความหมายตรงข้ามกันมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นการพิจารณาในระดับคำเท่านั้น สรุปได้ว่า Paradox และ Oxymoron มีความแตกต่างกันตรงที่ Paradox เน้นที่ระดับประโยคในขณะที่ Oxymoron จะเน้นที่ระดับคำนั่นเอง

Paradox และ Oxymoron จะพบมากในการนำมาตั้งชื่อนวนิยาย หรือชื่อละครโทรทัศน์ ซึ่งในบทความนี้จะใช้ชื่อนวนิยายในการยกตัวอย่าง

เริ่มที่ Oxymoron กันก่อน ดังที่กล่าวมาแล้วว่า Oxymoron จะเน้นความขัดแย้งกันในระดับคำ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ฆาตกรกามเทพ ทะเลหวาน

น้ำตาลขม พยาบาทหวาน

พริกหวานน้ำตาลเผ็ด สุภาพบุรุษซาตาน

จากตัวอย่างข้างต้นเป็นชื่อนวนิยายและละครซึ่งมีลักษณะการตั้งชื่อเรื่องแบบ Oxymoron โดยนำคำ 2 คำที่มีความหมายสมบูรณ์ในตัวเองและความหมายของทั้งสองคำนั้นมีความขัดแย้งกันเองมาอยู่ด้วยกัน เช่น สุภาพบุรุษซาตาน เมื่อพูดถึง สุภาพบุรุษ ย่อมนึกถึงผู้ชายที่ให้เกียรติผู้หญิง เป็นผู้ชายที่ดี สุภาพ แต่เมื่อพูดถึง ซาตาน จะให้ภาพที่โหดร้าย ดังนั้นการนำเอาคำว่า สุภาพบุรุษ กับ ซาตาน มาอยู่ด้วยกันจึงเกิดความขัดกันนั่นเอง

ส่วน Paradox จะเป็นการขัดกันทางความหมายในระดับประโยค พูดง่ายๆคือไม่ใช่แค่คำสองคำมาอยู่ด้วยกันนั่นเอง ซึ่งชื่อนวนิยายหรือชื่อละครก็พบว่ามีในลักษณะนี้เช่นกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ไฟในวายุ

หยดน้ำในตะวัน

จากตัวอย่างข้างต้นเป็นชื่อนวนิยายและละครซึ่งมีลักษณะการตั้งชื่อเรื่องแบบ Paradox โดยนำสองสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้มาไว้ด้วยกัน แต่เป็นในระดับประโยค กล่าวคือไม่ใช่แค่เอาคำ 2 คำมาอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เช่น หยดน้ำในตะวัน เมื่อกล่าวถึงตะวัน หรือดวงอาทิตย์ ย่อมนึกถึงความร้อนซึ่งแน่นอนว่าในดวงอาทิตย์ไม่สามารถมีน้ำหรือหยดน้ำอยู่ได้แน่นอน ดังนั้นหยดน้ำที่อยู่ในตะวันจึงเป็นวลีไม่สามารถไปด้วยกันได้นั่นเอง

สรุปง่ายๆอีกครั้งว่า Paradox กับ Oxymoron ก็คล้ายคลึงกันเนื่องจากเป็นการหมายความถึงความขัดกันของความหมาย แต่ Paradox จะพิจารณาระดับประโยค ส่วน Oxymoron จะพิจารณาความขัดกันในระดับคำ...

1 ความคิดเห็น: