วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Modifier II: ในภาษาไทย

เมื่อสังเกตคำขยายที่ปรากฏอยู่ในภาษาไทยจะพบว่าคำขยายไม่ได้เกิดกับคำนาม (Entity) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดกับคำกริยา (Event) ได้เช่นกัน ซึ่งคำขยายในภาษาไทยส่วนใหญ่จะวางไว้ที่หลังคำหลัก และสามารถเขียนแสดงลักษณะของการวางคำขยายได้ดังนี้

คำหลัก (คำนาม/ คำกริยา) + คำขยาย

ตัวอย่างของการขยายคำที่มีคำนามเป็นคำหลัก ตุ๊กตาหมีสีน้ำตาลตัวใหญ่

ตัวอย่างของการขยายคำที่มีคำกริยาเป็นคำหลัก กินจุมาก

การวางคำขยายอีกแบบหนึ่งคือการวางคำขยายไว้หน้าคำหลัก ซึ่งโดยทั่วไปจะเกิดกับคำกริยา เช่น เคยไป และภาษาไทยมักจะไม่ใช้คำขยายโดดๆเรียงต่อกัน แต่จะมีคำที่นำมาเชื่อมเพื่อระบุสิ่งที่ต้องการขยายให้ชัดเจนขึ้นได้อีก เช่น ลักษณะนาม สรรพนาม คำนาม เป็นต้น

ถ้าลองคิดถึงคำโฆษณาขายผลไม้ที่ไม่มีการนำเอาคำ ลักษณะนาม สรรพนาม คำนาม ฯ มาขั้นบ้าง เช่น “มะพร้าวจ้า..มะพร้าวหอมหวานอร่อยๆ มาแล้วจ้า” “ส้มโอสดๆใหม่ๆ หวานๆ จ้า” ฯลฯ เราลองมาวิเคราะห์กันว่าการเรียงของคำขยายจะเป็นอย่างไร

“มะพร้าวหอมหวานอร่อยๆ”

มะพร้าว คือ Domain และ หอมหวานอร่อยๆ เป็นส่วนขยายหรือ Modifier ซึ่งเมื่อสังเกตจะพบว่า “หอม” “หวาน” “อร่อย” ต่างก็เป็นคำขยายประเภท Physical Property ทั้งสิ้น ซึ่งถ้านำมาเรียงลำดับจะได้ดังนี้ Physical Property> Physical Property> Physical Property คราวนี้เรามาดูอีกประโยคหนึ่งคือ

“ส้มโอสดๆ ใหม่ๆ หวานๆ”

ลองพิจารณาแบบเดียวกันกับประโยคแรกจะอธิบายได้ว่า “ส้มโอ” คือ Domain ส่วนที่ขยายคือ “สดๆ” “ใหม่ๆ” “หวานๆคำว่า สด เป็น Physical Property ที่เป็น Edibility บ่งบอกว่าสามารถกินได้ คำต่อมา ใหม่ เป็นคำขยายประเภท Age ซึ่งหมายถึงส้มโอที่เพิ่งสุก สุดท้ายคือ หวาน เป็น Physical Property ที่เป็น Sense บอกว่ามีรสชาติหวาน ดังนั้นเมื่อนำส่วนขยายมาเรียงต่อกันจะได้ Physical Property (Edibility)> Age> Physical Property (Sense)

จะสังเกตเห็นได้ว่าการเรียงของคำขยายที่ไม่มีคำอื่นๆมาขั้นในภาษาไทย จะมีการเลือกใช้คำซ้ำ และมีจำนวนของคำขยายที่เรียงต่อกันไม่มาก แต่นอกจากการขยายในลักษณะนี้แล้วโดยส่วนมากภาษาไทยจะคำลักษณะนาม สรรพนาม คำนาม ฯ มาขยายอีกดังเช่นตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

นอกเหนือจากภาษาไทยแล้วบทความต่อไปเราจะมาดูกันว่าคำขยายในภาษาอังกฤษจะเป็นอย่างไรกันบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น