วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปฐมบทของความสัมพันธ์ทางความหมายในแนวนอน (Syntagmatic relation) : Abnormality

เกริ่นนำก่อนว่าคำต่างๆที่ปรากฏในประโยคที่เราพูดกันนี้มีทั้งที่พูดออกมาแล้วคำเหล่านั้นมีความหมายที่ไปด้วยกันได้ (Normal co-occurrence) และในขณะเดียวกันก็มีที่เมื่อพูดออกมาแล้วความหมายไปด้วยกันไม่ได้ (Abnormal co-occurrence) ซึ่งการที่ความหมายไปด้วยกันไม่ได้ในประโยคที่เราพูดนี่เองที่มีความน่าสนใจ แล้วมันจะน่าสนใจยังไง? ต้องติดตาม...

ที่บอกไว้ตอนต้นว่าการที่เราพูดคำออกมาแล้วความหมายมันไปด้วยกันไม่ได้ในประโยคเป็นสิ่งที่น่าสนใจก็เพราะว่า ถ้าพูดแล้วความหมายมันไปด้วยกันได้ทั้งหมดมันก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราพูดแล้วความหมายมันไปด้วยกันไม่ได้ ผู้ฟังฟังแล้วอาจไม่รู้สึกว่าแปลกมากมาย พอรับได้ แต่ในบางครั้งพูดไปแล้วผู้ฟังกลับรู้สึกว่าแปลกมาก ความแปลกนี่เองที่เราน่าจะนำมาศึกษาว่าทำไมผู้ฟังถึงรู้สึกถึง ความแปลก ไม่เหมือนกัน ซึ่งการศึกษาเรื่องความหมายที่ไปด้วยกันไม่ได้ หรือ ไม่ไปด้วยกันในประโยคก็คือการศึกษาเรื่องของ Abnormal co-occurrence หรือ Abnormality นั่นเอง สิ่งที่เราจะพูดถึงเป็นสิ่งแรกเพื่อความเข้าใจเริ่มต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือประเภทของ Abnormality

ประเภทของ Abnormality (Types of Abnormality) สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ Pleonasm และ Semantic clash

Pleonasm เป็นลักษณะของการที่คำมาปรากฏร่วมกันแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดความหมายใหม่เพิ่มขึ้นมา แต่กลับทำให้ความหมายซ้ำซ้อนมากขึ้น เช่น โรงเรียนสตรีหญิงล้วน จะเห็นว่าสตรี ก็หมายถึงผู้หญิงอยู่แล้ว โรงเรียนสตรีก็ต้องหมายถึงโรงเรียนรับเฉพาะนักเรียนหญิง ดังนั้นการที่เพิ่มคำว่า หญิงล้วน เข้ามาขยาย โรงเรียนสตรี จึงไม่ก่อให้เกิดความหมายใดเพิ่มเติมแต่เป็นการซ้ำความหมายเดิม

อีกประเภทหนึ่งคือ Semantic clash ซึ่งจะเป็นประเภทของ Abnormality ที่จะกล่าวถึงในบทความถัดไปด้วย Semantic clash คือ การขัดกันของความหมายในประโยค ซึ่งความหมายที่ขัดกันนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

1. inappropriate คือ ความหมายมีความขัดกันแต่เป็นระดับที่ความขัดกันของความหมายน้อยที่สุด เป็นเพียงความไม่เหมาะสมเท่านั้น แต่สามารถยอมรับในความหมายที่สื่อออกมาได้ เช่น แมวเห่า ซึ่งคำกริยา “เห่า” เป็นกริยาที่มีความหมายถึง การส่งเสียงร้อง,ส่งเสียงดัง แต่กริยาคำนี้เป็นกริยาเฉพาะที่ใช้กับสุนัข เท่านั้น แต่ในกรณีที่ยกตัวอย่าง คำว่า เห่า ถูกนำมาใช้ร่วมกับแมว ไม่ใช่สุนัขอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะหนึ่งของการขัดกันของความหมายในประโยคแต่เป็นระดับที่ใช้คำไม่เหมาะสมเท่านั้น ยังสามารถสื่อความหมายได้แต่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกแปลกๆเท่านั้น

2. paradox หรือที่ในภาษาไทยเรียกว่า ปฏิพจน์ ซึ่งหมายถึงการนำคำที่มีความหมายตรงข้ามกันมาเรียงอยู่ด้วยกัน จัดเป็นการขัดกันของความหมายในประโยคอย่างหนึ่ง ความหมายที่สื่อออกมาจะเป็นความหมายที่ขัดแย้งกันเมื่อฟังแล้วจะรู้สึกถึงความขัดกันมากกว่า semantic clash ประเภท inappropriate เช่น ฝนตกขึ้นฟ้า เป็นการนำเอาคำว่า ตก และ ขึ้น มาเรียงต่อกันซึ่งทำให้ความหมายของประโยคขัดกัน ฝนตก ย่อมหมายถึงหยดน้ำจำนวนมากที่กลั่นตัวจากก้อนเมฆแล้วเคลื่อนที่ลงสู่พื้น แต่ ขึ้นฟ้า แสดงให้เห็นทิศทางจากพื้นเคลื่อนที่สู่ที่สูง ดังนั้น ฝนตกขึ้นฟ้า จึงแสดงให้เห็นความขัดกันในด้านความหมาย สำหรับในหัวข้อนี้จะนำมากล่าวเพิ่มเติมในบทความต่อไป

3. incongruity เป็นประเภทของ semantic clash ที่มีระดับความขัดแย้งกันของความหมายในประโยคมากที่สุด แม้จะไม่ผิดไวยากรณ์แต่เป็นความขัดกันที่ไม่สามารถยอมรับได้ บางครั้งอาจสื่อความหมายไม่ได้เลย ตัวอย่างเช่น ทารกนี้ได้เห็นโลกมาร่วมร้อยปี จะเห็นว่ามีความขัดกันอย่างมากระหว่าง ทารก ซึ่งหมายถึงเด็กแรกเกิด กับ เห็นโลกมาร่วมร้อยปี ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เด็ดขาดที่เด็กแรกเกิดจะเห็นโลกมาเป็นเวลานานนับร้อยปี

สรุปได้ว่า Semantic clash และ Pleonasm คือประเภทของ Abnormality ซึ่ง Semantic clash สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก inappropriate เป็นการขัดกันของความหมายที่น้อยที่สุด paradox และ incongruity ซึ่งเป็นการขัดกันของความหมายมากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น