วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทัศนะภาวะปริชาน (epistemic modality) และทัศนะภาวะปริพัทธ (deontic modality) ในคำช่วยหน้ากริยา “ต้อง” “น่าจะ” “ควรจะ”

สวิทเซอร์ (Sweetser 1990) ได้เสนอไว้ในการศึกษาด้านอรรถศาสตร์ปริชาน (cognitive semantics) ว่าขอบเขตของทัศนะภาวะสัญชานและขอบเขตของทัศนภาวะปริพัทธเป็นขอบเขตที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ความสัมพันธ์นี้เป็นความสัมพันธ์เชิงอุปลักษณ์ (metaphorical) กล่าวคือ เราไม่ได้สร้างระบบมโนทัศน์เกี่ยวกับการคาดคะเนโดยตัวของมันเอง แต่เราได้มาจากการขยายขอบข่ายความเข้าใจเกี่ยวกับการอยู่ภายใต้เงื่อนไขบังคับทางกายภาพและสังคม (Sociophysical World) ซึ่งเป็นขอบข่ายของทัศนะภาวะปริพัทธ นั่นก็คือในทางอรรถศาสตร์แล้ว หมายความว่ามีการเชื่อมโยงเชิงอุปลักษณ์ (metaphorical mapping) จากระบบความหมายเกี่ยวกับเงื่อนไขทางกายภาพและสังคม (ซึ่งก็คือทัศนะภาวะปริพัทธ หรือ deontic modality) ไปสู่ระบบความหมายเกี่ยวกับการใช้หลักเหตุผลในการคาดคะเน (ซึ่งก็คือ ทัศนะภาวะปริชาน หรือ epistemic modality)

ในภาษาไทยพบว่า คำแสดงทัศนะภาวะปริพัทธหลายคำสามารถใช้เพื่อแสดงความหมายการคาดคะเนได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่างนี้แสดงการเปรียบเทียบการใช้คำช่วยหน้ากริยา “ต้อง” ที่ขยายความประโยคแตกต่างกัน

1. มีระเบียบออกมาใหม่ว่านักศึกษาทุกคนต้องสวมร้องเท้าหุ้มส้น

2. ยาหลายๆ ตัวออกฤทธิ์ได้แตกต่างกัน แน่นอนว่าต้องมียาบางชนิดที่ไม่ถูกกับอาหารบางประเภท

ตัวอย่างประโยคที่1. แสดงการใช้คำช่วยหน้ากริยา “ต้อง” เพื่อแสดงทัศนะภาวะบังคับ นั่นคือ มีระเบียบที่เป็นสิ่งบังคับให้นักศึกษาทุกคนดำเนินตาม ในที่นี้คือสวมรองเท้าหุ้มส้น ในขณะที่ประโยคที่2. ตามหลักเหตุผลที่ยกมาในปริบทแวดล้อมบังคับให้เราเชื่อได้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมียาบางชนิดไม่ถูกกับอาหารบางประเภท

คำช่วยกริยา “น่าจะ” ก็เช่นเดียวกัน โดยปกติแล้วมีหน้าที่แสดงทัศนะภาวะปริพัทธ แต่ก็สามารถใช้แสดงทัศนะภาวะสัญชานได้ในบางกรณี ดังตัวอย่าง

3. หากคุณเกิดความไม่สบายกะทันหันก่อนวันเดินทาง ทางที่ดีน่าจะเลื่อนวันเดินทางไปก่อนจนกว่าอาการจะดีขึ้น

4. รายได้ในปีนี้คาดว่าจะดีขึ้น เพราะเราเริ่มโฆษณาทางโทรทัศน์แล้ว ดิฉันคิดว่าน่าจะทำให้คนรู้จักผลิตภัณฑ์ของเรามากขึ้น

ตัวอย่างประโยคที่3. แสดงความเห็นของผู้พูดที่ชี้แนะผู้ฟังให้กระทำตามคือเลื่อนวันเดินทาง ในตัวอย่างที่4. นั้น ผู้พูดไม่ได้ชี้แนะผู้ฟังให้กระทำแต่อย่างใด แต่ผู้พูดแสดงการคาดคะเนว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การดำเนินการโฆษณามีผลทำให้คนรู้จักผลิตภัณฑ์ของตนมากขึ้น

ตัวอย่างต่อไปนี้แสดงการเปรียบเทียบการใช้คำช่วยหน้ากริยา “ควร” ตามด้วย “จะ” เพื่อแสดงทัศนะภาวะปริพัทธและทัศนะภาวะสัญชานตามลำดับ

5. การเดินเพื่อสุขภาพให้ได้ผลดีต้องเดินเร็วๆ วันละประมาณ 30-40 นาที

6. ค้นดูตามซอกตามมุมที่คิดว่าควรจะมีอยู่ แต่ก็ไม่พบสักสลึง

ในประโยคที่ 5. ผู้พูดเสนอแนะให้ผู้ฟังกระทำตาม นั่นคือให้เดินเร็วๆ ในระยะทางและเวลาที่ผู้พูดแนะนำ ส่วนในประโยคที่6. ผู้พูดบอกเล่าการคาดคะเนความเป็นไปได้ที่จะมีเงินอยู่บริเวณซอกมุม ไม่ใช้เป็นการเสนอแนะให้ผู้อ่านผู้ฟังกระทำตามแต่อย่างใด

อ้างอิง : Sweetser, Eve. 1990. From Etymology to Pragmatics: The Mind-as-Body Metaphor in semantic Structure and Semantic Change. Cambridge: Cambridge University Press.

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความสัมพันธ์ระหว่างกาล (Tense) และ ทัศนภาวะ (Modality) ในภาษาอังกฤษ

ทางภาษาศาสตร์ถือว่าภาษาอังกฤษมี 2 กาลคืออดีตและปัจจุบัน ส่วนอนาคตถือเป็นสิ่งที่เรียกว่าทัศนภาวะ (modality) ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงระดับความแน่ใจของผู้พูดที่มีต่อสิ่งที่พูดออกมาว่า จำเป็นต้องเกิดแน่ ๆ (necessity) หรือ อาจจะเกิด (possibility) ตัวบ่งชี้ทัศนะภาวะมีดังนี้ 1. คำกริยาช่วยที่ใช้บอกทัศนะภาวะ เช่น may, might, can, could 2. คำคุณศัพท์ เช่น possible, probable 3. คำกริยาวิเศษณ์ เช่น possibly, probably และ 4. อนุประโยค เช่น I think …

หากพิจารณาตัวอย่างประโยคจะพบว่าในภาษาที่มีกาลเช่นภาษาอังกฤษ เครื่องมือที่ใช้บอกกาลก็เป็นตัวบ่งชี้ทัศนะภาวะ (modality) หรือ สิ่งที่บอกความแน่ใจของผู้พูดว่าเหตุการณ์ที่พูดถึงอยู่จำเป็นต้องเกิดขึ้น แน่ ๆ หรือแค่อาจเป็นไปได้ ก็ทำได้เช่นกัน เมื่อกำหนดว่าทัศนะภาวะ (modality) มีลำดับชั้น ตั้งแต่ เหตุการณ์ที่พูดถึงไม่เกิดขึ้นแน่ ๆ ไปจนถึง อาจเกิดขึ้น และ เกิดขึ้นแน่ ๆ เราอาจกล่าวได้ว่า ตัวอย่างประโยค (1), (2) และ (3) แสดงความแน่ใจของผู้พูดลดหลั่นกันไป คือ (1) แสดงระดับความแน่ใจของผู้พูดสูงที่สุด รองลงมาคือ (2) และสุดท้ายคือ (3)

(1) John goes to the opera tomorrow night. (tenseless future)
(2) John is going to the opera tomorrow night. (futurative progressive)
(3) John will go to the opera tomorrow night. (future will)

ตัวอย่างประโยค (4), (5) และ (6) ก็เช่นกัน คือ (4) แสดงระดับความแน่ใจของผู้พูดสูงที่สุด รองลงมาคือ (5) และสุดท้ายคือ (6)

(4) Ben went to London. (simple past)
(5) Ben would have gone to London. (epistemic necessity past)
(6) Ben may have gone to London. (epistemic possibility past)

ดังนั้นจากตัวอย่างดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า กาลในภาษาอังกฤษ ก็มีลักษณะความเป็นตัวบ่งชี้ทัศนะภาวะ (modality) อยู่เช่นกัน

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การใช้คำผิดความหมายในเพลง "กันและกัน" ของ คิว วงฟลัวร์


หลายคนคงเคยได้ดูภาพยนตร์รักแห่งสยาม ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากบรรดาวัยรุ่นและวัยกลางคน และเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ติดอันดับเพลงที่มีคนขอมากที่สุดในสถานีวิทยุหลายๆแห่ง แต่ไม่มีใครออกมากล่าวถึงการใช้คำที่ผิดความหมายอย่างมาก ซึ่งอยู่ในท่อนสำคัญของเพลง คือ

“ให้มันเป็นเพลง บนทางเดินเคียง ที่จะมีเพียงเสียงเธอกับฉัน
อยู่ด้วยกันตราบนานๆ ดั่งในใจความบอกในกวี
ว่าตราบใดที่มีรักย่อมมีหวัง
คือทุกครั้งที่รักของเธอส่องใจ ฉันมีปลายทาง”

คำว่า “กวี” นั้น มาจากคำเดิม ในภาษาบาลีและสันสกฤต "กวิ" แปลว่า ผู้คงแก่เรียน ผู้เฉลียวฉลาด ผู้มีปัญญาเปรื่องปราด ผู้ประพันธ์กาพย์กลอน และแปลอย่างอื่น ได้อีก โดยมีรากศัพท์ จาก "กุ" หรือ "กู" แปลว่า "เสียง, ทำให้เกิดเสียง, ร้อง, ร้องระงม, คราง, ร้องเหมือนเสียงนก หรือเสียงแมลงผึ้ง" ซึ่งในปัจจุบันนำมาใช้หมายถึง ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทกลอน มักใช้คำนี้ในภาษาแบบแผนหรือภาษาการประพันธ์ โดยปริยาย หมายถึง ผู้ชำนาญในการประพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นบทร้อยกรอง หรือวรรณกรรมรูปแบบอื่นๆ โดยมีความหมายในเชิงยกย่อง

*ดังนั้น “กวี” จึงเป็นคำที่ใช้กับ “บุคคล” แต่ในบทเพลงนั้นกล่าวถึงข้อความที่บอกใน “กวี” ซึ่งขัดแย้งกับความหมายของคำนั้น (ข้อความไม่น่าจะปรากฏในบุคคลได้)

แต่หากพิจารณาคำว่า “บทกวี” ซึ่งหมายถึง ภาษาของอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด คือเครื่องมือที่จะนำสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นข่าวสารออกมาแสดงให้ประจักษ์ ตระหนัก ตระหนก สะทก สะท้อน

*ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า กวี คือผู้สร้าง ส่วนบทกวีคือเครื่องมือหรือสิ่งที่แสดงออกมา “ดังในใจความบอกในกวี” จึงควรใช้ว่า “ดังในใจความในบทกวี” จะตรงกับความหมายที่ต้องการสื่อมากกว่า


วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

“ได้” ในฐานะ คำหลายความหมาย


จากที่เคยเขียนถึงคำว่า “ออก” ในฐานะคำหลายความหมาย ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงคำว่า “ได้” เหตุที่เลือกคำนี้เพราะเป็นคำที่เราใช้ในชีวิตประจำวันกันจนเป็นเรื่องเคยชิน จนในบางครั้งก็กลายเป็นคำพูดที่พูดไปโดยไม่ได้คิด

ด้วยเหตุผลเดียวกัน ประภัสสร ภัทรนาวิก. (2541) จึงได้ศึกษา “ความสัมพันธ์ทางอรรถศาสตร์และวากยสัมพันธ์ของคำว่า “ได้” ในภาษาไทย” ผลการศึกษาพบว่า คำว่า “ได้” มีความหมายที่หลากหลายถึง 4 ความหมาย ได้แก่ อนุญาต ได้รับ เน้นน้ำหนักหรือเพิ่มน้ำหนักให้แก่คำกริยาที่ตามมา และสามารถ

1. คำว่า “ได้” ในความหมายว่า “อนุญาต” อาจปรากฏในประโยคคำถาม แสดงเจตนาว่าขออนุญาต โดยมีวากยสัมพันธ์ในประโยคคือ อยู่หลังคำกริยาหลักของประโยค ปรากฏในประโยคคำถามนั้นโดยมีลักษณะทางวากยสัมพันธ์ในประโยคคือเป็นกริยาหลักของประโยค เช่น

ประโยคคำถาม ขณะนี้ขอใช้ห้องประชุมที่ 117 เพื่อสอนชดเชยได้ไหม?

ประโยคคำตอบรับ ได้

ประโยคคำตอบที่ตอบปฏิเสธ ไม่ได้

2. คำว่า “ได้” ที่มีความหมายว่า “ได้รับ” อาจปรากฏในประโยคบอกเล่า โดยมีลักษณะทางวากยสัมพันธ์ในประโยคคือ อยู่ในตำแหน่งคำกริยาหลักของประโยค เช่น ในการวิจัยแบบนี้เป็นรูปแบบของการวิจัยที่นิยมกันมาก ซึ่งผลที่ได้จากการวิจัยสามารถนำไปใช้และเกิดผลโดยตรงในการผลิต

3. คำว่า “ได้” ที่มีความหมายเน้นน้ำหนัก หรือเพิ่มน้ำหนักให้แก่คำกริยาที่ตามหลังมา อาจปรากฏในคำบอกเล่า โดยมีลักษณะทางวากยสัมพันธ์ในประโยคคือ อยู่ในตำแหน่งหน้าคำกริยาหลักของประโยค เช่น ท่านได้พยายามปลูกฝังกระบวนทัศน์ หรือแนวคิดให้แก่บรรดาสานุศิษย์

4. คำว่า “ได้” ที่มีความหมายว่า “สามารถ” อาจปรากฏในประโยคบอกเล่า โดยมีลักษณะทางวากยสัมพันธ์คือ อยู่ตำแหน่งหลังคำกริยาหลักของประโยค เช่น ความเห็นนี้นั้นเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ในทางปฏิบัติ

จากการศึกษาดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งที่ปรากฏและบริบทแวดล้อมทำให้คำเดียวกันมีความหมายที่แตกต่างหลากหลายยิ่งขึ้น

อ้างอิง

ภัทรนาวิก, . (2541). ความสัมพันธ์ทางอรรถศาสตร์และวากยสัมพันธ์ของคำว่า "ได้" ในภาษาไทย. วารสารปาริชาต. 11, 2 : 8.